1. การดำเนินงานด้านวิศวกรรมและจราจร

      ในการศึกษาด้านวิศวกรรมและจราจร จะมีการสำรวจปริมาณจราจรในปัจจุบัน คาดการณ์ปริมาณจราจรในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์ระดับการให้บริการการจราจร การสำรวจภูมิประเทศ สำรวจแนวทางและระดับ การสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับที่เหมาะสมและดำเนินการออกแบบรายละเอียด ประกอบด้วย

  • งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ
  • การสำรวจแนวทางและระดับ
  • งานสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ
  • งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
  • งานออกแบบรายละเอียดทางแยก
  • งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง งานฐานราก วิเคราะห์เสถียรภาพ และการทรุดตัวของคันทาง
  • งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำและโครงสร้างอื่น ๆ
  • งานระบบระบายน้ำ
  • งานระบบไฟฟ้า
  • งานสถาปัตยกรรม
  • งานดำเนินการทางด้านสิ่งสาธารณูปโภค

2. การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่

      ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) ดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบทางเลือกของโครงการ ครอบคลุมองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน รวม 37 ปัจจัย โดยใช้วิธี Leopold Matrix และนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ ซึ่งจะนำไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกทางเลือก และรูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับการศึกษาด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรม รวมทั้งการสรุปปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ เพื่อนำไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียดสำหรับแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมต่อไป

      ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment : EIA) ดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่ของแนวเส้นทางและรูปแบบทางเลือกที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในกรณีที่มีโครงการและไม่มีโครงการ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป